บทความวิชาการ

แอลกอฮอล์ แค่ชื่อผิดชีวิตก็เปลี่ยน

            ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างปีใหม่ เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในงานเลี้ยงสังสรรค์อย่างหนึ่ง คือเหล้า ซึ่งคนส่วนใหม่มักเรียกจนติดปากว่า “แอลกอฮอล์” (Alcohol) ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว แอลกอฮอล์เป็นชื่อสารเคมีกลุ่มหนึ่ง โดยรู้จักและมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายแต่ที่พบมากที่สุด คือ “เอทิลแอลกอฮอล์” (ethyl alcohol) และ “เมทิลแอลกอฮอล์” (methyl alcohol) ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้แม้จะมีคุณสมบัติทั้งสีและกลิ่นที่คล้ายกันแต่ความเป็นพิษต่อร่างกายนั้นแตกต่างกัน

            “เอทานอล” (ethanol) หรือ “เอทิลแอลกอฮอล์” (ethyl alcohol)มีสูตรเคมีคือ C2H5OH เป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ ไวไฟสูง สามารถละลายน้ำได้ เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย กากน้ำตาล กากอ้อย แป้ง มันสำปะหลัง มันเทศ ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง  แอลกอฮอล์ชนิดนี้กินได้ นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์และเบียร์ (ทั้งนี้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แต่ละประเภทจะมีปริมาณของเอทานอลแตกต่างกัน เช่น เบียร์มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยประมาณ 4 – 6% โดยปริมาตร ส่วนสุราชนิดต่าง เช่น วิสกี้ บรั่นดี วอดก้า เหล้าชนิดกลั่นมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า ประมาณ 40 – 50% ) เอทิลแอลกอฮอล์เข้มข้นร้อยละ 70 ใช้เป็นยาสำหรับเช็ดทำความสะอาดแผล (ห้ามรับประทานเพราะในน้ำยาล้างแผล จะใส่สีไว้เพื่อป้องกันการนำไปรับประทาน)    มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อราและเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียได้ ใช้เป็นตัวทำละลายทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและทางเภสัชกรรม เช่น เป็นตัวทำละลายในยาแก้ไอ
หรือนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันราคาแพง โดยใช้เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ตั้งแต่ 95% โดยปริมาตรไปผสมกับน้ำมัน เป็นต้น แต่ทั้งนี้เอทิลแอลกอฮอล์ก็ยังมีความเป็นพิษต่อร่างกายโดยอาจก่อให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรังหรือตับอักเสบ

            ส่วน “เมทานอล” (methanol) หรือ “เมทิลแอลกอฮอล์” (methyl alcohol) มีสูตรเคมีคือ CH3OH เป็นของเหลวใส ระเหยง่าย เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี นิยมใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมการ เช่น สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา ยาลอกสี ฯลฯ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในธรรมชาติ ความเป็นพิษต่อร่างกายถือได้ว่า มีพิษมาก โดยเมทานอลสามารถดูดซึมได้ทางผิวหนัง ลมหายใจ ผู้ที่สูดดมเข้าไประคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมอักเสบ หลอดคออักเสบ มีการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจเอาเมทานอลเข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะทำให้เกิดการปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นจะผิดปกติจนอาจทำให้ตาบอดได้ แต่หากดื่มเข้าไป ทางเดินอาหารจะดูดซึมละกระจายเข้าสู่กระแสเลือดทันที มีผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เห็นภาพไม่ชัด มีผลต่อประสาทตา อาจทำให้ตาบอด ที่สำคัญยังมีผลต่อระบบหายใจ ทำให้ไตอักเสบ กล้ามเนื้อตับตาย หรือโลหิตเป็นพิษ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

            ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้งาน“แอลกอฮอล์” (Alcohol) จึงจำเป็นต้องระบุชื่อแอลกอฮอล์ที่ต้องการให้ชัดเจนและควรทำความเข้าใจ ชนิด อันตราย วิธีการใช้งานรวมทั้งการป้องกันอันตรายและการปฐมพยาบาลหากเกิดอันตราย ซึ่งข้อมมูลดังกล่าวสามารถศึกษาได้ทั้งจากการอ่านฉลากหรือข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี ทั้งเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

ที่มา

1. https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/2076-ethyl-alcohol

2. https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/2076-ethyl-alcohol

3. http://www.chemtrack.org/

                    อาจารย์สุภาวดี  จันทร์อุดม (เขียน/เรียบเรียง)