บทความวิชาการ

การหนีไฟอาคารสูง

  คนทำงานที่อาศัยอยู่บนอาคารสูง หรือมีที่ทำงานอยู่บนตึกสูง คงได้ทำการฝึกซ้อมหนีไฟ โดยหนีออกมาทางบันไดหนีไฟอยู่บ่อยครั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการเอาตัวรอด ได้อย่างปลอดภัยในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไม่คาดคิด ทราบหรือไม่ว่าอาคารสูงหลายๆ โครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความปลอดภัยไม่เพียงพอเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัยทำให้การอพยพออกจากอาคารเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งเกิดจากการออกแบบอาคารไม่ถูกต้องจึงทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตขณะทำการอพยพ สาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดจากอัคคีภัยส่วนมากเกิดจากการต่อเติมดัดแปลงอาคาร และการใช้อาคารผิดประเภท เพราะความไม่เข้าใจในเรื่องของอัคคีภัยจึงมีการนำวัสดุที่ติดไฟมาเป็นส่วนประกอบของอาคาร หรือนำก๊าซไวไฟมาใช้ภายในอาคาร

  “ เส้นทางการหนีไฟ ” มักจะเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงเสมอเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้เรามักจะได้ยินข่าวว่าประตูทางเข้าทางหนีไฟไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เมื่อเข้าไปแล้วมีสิ่งของวางกีดขวาง มีแสงสว่างไม่เพียงพอ และเมื่อหนีไฟตามบันไดหนีไฟไปถึงพื้นราบแล้ว ปรากฏว่าประตูไม่สามารถเปิดออกได้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดขึ้นเป็นประจำ

  การอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนที่ติดอยู่ในเหตุการณ์การเกิดอัคคีภัย นอกจากเส้นทางการหนีไฟของตัวอาคารแล้ว การตัดสินใจของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน โดยช่วงเวลาในการตัดสินใจนั้น โดยปกติทั่วไปแล้วคนเราจะไม่กระทำการใด ๆ โดยขาดสติยั้งคิดถ้าหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างเช่น กรณีการเกิดอัคคีภัยที่จำเป็นจะต้องอพยพผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องมีการตัดสินใจอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรฝึกซ้อมวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้แก่พนักงานเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นต่อการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้