บทความวิชาการ

คปอ.

  การจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและควบคุมอันตรายจากการทำงาน ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนทุกระดับที่จะต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจตรา และเฝ้าระวังสภาพการทำงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงานที่ปลอดภัย หรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน ตลอดจนสร้างความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน ดังนั้น เพื่อให้สถานประกอบกิจการสามารถบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2549 จึงกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ในประเภทกิจการดังต่อไปนี้

  1. การทำเหมืองแร่ เหมืองหิน กิจการปิโตรเลียม หรือปิโตรเคมี
  2. การทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง เก็บรักษา ปรับปรุง ตกแต่ง เสริมแต่ง ดัดแปลง แปรสภาพ ทำให้เสีย หรือทาลายซึ่งวัตถุหรือทรัพย์สิน รวมทั้งการต่อเรือ การให้กำเนิด แปลงและจ่ายไฟฟ้าหรือพลังงานอย่างอื่น
  3. การก่อสร้าง ต่อเติม ติดตั้ง ซ่อม ซ่อมบำรุง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร สนามบินทางรถไฟ ทางรถราง ทางรถใต้ดิน ท่าเรือ อู่เรือ สะพานเทียบเรือ ทางน้ำ ถนน เขื่อน อุโมงค์ สะพาน ท่อระบายน้ำ ท่อน้ำ โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ก๊าซ หรือประปา หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ รวมทั้งการเตรียมหรือวางฐานรากของการก่อสร้าง
  4. การขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และรวมทั้งการบรรทุกขนถ่ายสินค้า
  5. สถานีบริการและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ
  6. โรงแรม
  7. ห้างสรรพสินค้า
  8. สถานพยาบาล
  9. สถาบันทางการเงิน
  10. สถานตรวจทดสอบทางกายภาพ
  11. สถานบริการบันเทิง นันทนาการ หรือกีฬา
  12. สถานปฏิบัติการทางเคมีหรือชีวภาพ
  13. สำนักงานที่ปฏิบัติงานสนับสนุนสถานประกอบกิจการตาม 1 – 12
  14. กิจการอื่นตามที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด