บทความวิชาการ

ฝุ่นร้าย PM 2.5

                จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบันส่งผลให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คงเป็นเรื่องมลพิษทางอากาศที่ ณ วันนี้หลายพื้นที่ของประเทศพบว่ามีค่าอนุภาคฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ของประเทศ นำไปสู่ผลกระทบต่อคนไทยทั้งทางด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยอีกมากกมาย

 

มาทำความรู้จักกับคำว่า PM 2.5 (พีเอ็ม 2.5)

ฝุ่นที่นักวิชาการเรียกว่า PM 2.5 (พีเอ็ม 2.5) คือฝุ่นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนเรามองไม่เห็น

 

ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศโดยทั่วไปของประเทศไทย

ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2553) เรื่อง “กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป” ได้กำหนดค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน0.05 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 50ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในเวลา 1 ปีจะต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นละอองขนาดเล็กฝุ่นละอองขนาดเล็ก

               ปกติฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จะเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ ซึ่งระบบทางเดินหายใจจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนบนคือ ช่องจมูกและหลอดลม และระบบทางเดินหายใจส่วนล่างคือ ท่อปอด (bronchial tubes) และปอด

               ซึ่งฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายไปฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อปอดส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซของร่างกาย (Gas Exchange Regions) ทำให้เกิดแผลในเส้นเลือดแดงและทำให้สมรรถภาพในการยืดหยุ่นของเส้นเลือดแดงลดลง ทำให้เกิดโรคหัวใจ(Hearth Attack)และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease, COPD), โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis), โรคถุงลมโป่งพอง ( Emphysema). โรคปอดอักเสบ ( Interstadials lung disease), โรคหอบหืด ( Asthma) เป็นต้น อีกทั้งฝุ่นละออกขนาดเล็กสามารถดูดซับและหักเหแสงได้ทำให้บดบังทัศนวิสัยทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงจนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุต่าง ๆ ตามมา

 

ข้อแนะนำสำหรับการดูแลและป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5

  1. ช่วยกันดูแล ไม่ให้เผาขยะ เศษใบไม้ กิ่งไม้ หญ้าทุกชนิด หรือสิ่งใดที่ทำให้เกิดฝุ่นมากยิ่งขึ้น
  2. ดับเครื่องยนต์ของยานพาหนะทุกชนิดทุกครั้งเมื่อจอด
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยานพาหนะที่เป็นเครื่องยนต์หรือใช้ในกรณีจำเป็น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในลดมลพิษทางอากาศ
  4. ติดตามสถานการณ์มลพิษอยู่เสมอดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและหลีกเลี่ยงสถานที่มีฝุ่นPM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน
  5. รักษาความสะอาดโดยใช้น้ำสะอาดกลั้วคอ แล้วบ้วนทิ้งวันละ 3-4 ครั้ง
  6. งดเว้นการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย กิจกรรมกลางแจ้งรวมถึงการทำงานหนักที่ต้องออกแรงมากในบริเวณที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน
  7. กรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่น ควรสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 และควรเปลี่ยนใหม่หากหน้ากากสกปรกหรือเริ่มรู้สึกอึดอัดหายใจไม่สะดวก
  8. หากสูดดมและอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นเมื่อมีอาการผิดปกติของระบบหายใจและการมองเห็นควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

 เอกสารอ้างอิง

จาก http://infofile.pcd.go.th/law/2_99_air.pdf?CFID=73740&CFTOKEN=31196864

ธิดารัตน์ ผลพิบูลย์, ดร. อิสรีย์ฐิกา ชัยสวัสดิ์ และ ศ. นพ. อนุวัตร รุ่งพิสุทธิพงษ์.(2557)ภัยในหน้าหนาวจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5), วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.ค้นจาก https://tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/view/25502

 กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ.(2556).คำแนะนำในการปฏิบัติตัวและดูแลสุขภาพในสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน.กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข